ระเทศไทยจัดว่าอยู่ในพื้นที่ป่าเขตร้อน (Tropical Forest) เป็นป่าที่เกิดขึ้นบริเวณเส้นศูนย์สูตรของโลก ระหว่างเส้น Tropic of Cancer (23 องศา 27 ลิบดา เหนือ) กับเส้น Tropic of Capricon (23 องศา 27 ลิบดา ใต้) ซึ่งมีป่าหลายประเภทประกอบกันขึ้น อาทิ ป่าดงดิบชื้น  ป่าดงดิบเขา ป่าดงดิบแล้ง ป่าสนเขา ป่าชายเลน ป่าพรุ ป่าเต็งรัง และป่าเบญจพรรณ เป็นต้น ป่าแต่ละประเภทนั้นต่างมีเอกลักษณ์พิเศษเฉพาะตัว   รวมทั้งมีปัจจัยกำหนดการเกิดและการดำรงอยู่แตกต่างกันหลายประการ ทำให้สามารถแบ่งป่าเขตร้อนได้เป็น 2 กลุ่มใหญ่ ๆ คือ "ป่าไม่ผลัดใบ (Evergreen Forest) และป่าผลัดใบ (Deciduous Forest)" กล่าวคือ บริเวณใดมีฝนตกชุกตลอดปี ไม่มีเดือนที่แห้งแล้งชัดเจนหรือยาวนาน มีปริมาณน้ำฝนมากกว่า 1,500 มิลลิเมตรต่อปี ป่าเขตร้อนที่เกิดขึ้นจะมีลักษณะเป็น ป่าดิบ หรือ ป่าไม่ผลัดใบ อันมีสภาพรกทึบเขียวครึ้มตลอดปี นับเป็นป่าที่มีพืชพันธุ์และสัตว์ป่าหลากหลายที่สุด เพราะลักษณะอากาศและอุณหภูมิค่อนข้างคงที่ สิ่งมีชีวิตจึงไม่ต้องคอยปรับตัวมาก ส่วนป่าเขตร้อนบริเวณใดที่มีลักษณะอากาศแบบมรสุม คือมีฤดูแบ่งแยกชัดเจน มีฤดูแล้งยาวนาน ต้นพืชต้องพักตัวลงหัว หรือผลัดใบทิ้งเพื่อลดปริมาณการคายน้ำในฤดูแล้ง เกิดเป็นป่าผลัดใบ (Deciduous Forest) ขึ้นซึ่งมีความหลากหลายของนิเวศวิทยามากที่เราต้องศึกษาค้นคว้า เพราะมีพืชพันธุ์ไม้นานาพันธุ์อยู่อย่างมากมาย ทั้งที่มีประโยขน์กับสัตว์ป่าหรือกับสิ่งแวดล้อมและที่ไม่มีประโยชน์หรือบอกว่ามีประโยชน์น้อยดีกว่าเพราะพืชพันธุ์เกือบทุกชนิดต่างมีข้อดีข้อจำกัดของแต่ละพืชพันธุ์ ซึ่งมนุษย์และสัตว์ก็ได้นำประโยชน์ของพืชพันธุ์เหล่านี้มาใช้ ทั้งการนำมาใช้ในการสร้างสิ่งขิงเครื่องใช้หรือนำมาบริโภคความหลากหลายทางทรัพยากรพันธุ์พืช ความหลากหลายทางทรัพยากรพันธุ์พืชหมายถึงพืชนานาชนิดที่ขึ้นอยู่ทั่วไป โดยมีความหลากหลายทั้งระบบนิเวศ และ/หรือถิ่นที่พืชขึ้นอยู่ อันได้แก่ สภาพป่าชนิดต่าง ๆ หรือระบบนิเวศ ความหลากหลายของชนิดพรรณ (Species Diversity) ได้แก่ จำนวนชนิดพรรณพืชที่มีอยู่แต่ละแหล่ง และความหลากหลายทาง พันธุกรรม (Genetic Diversity) ซึ่งได้แก่ความแตกต่างทางสายพันธุ์ของพืชในแต่ละชนิด เช่น สายพันธุ์ต่าง ๆ ของข้าว ลำไย ทุเรียน หรือไม้สัก

ทรัพยากรพันธุ์พืช คือแหล่งปัจจัยสี่ที่สำคัญของมวลมนุษยชาติทั่วโลก มนุษย์จำเป็นต้องอาศัยพืชไม่โดยตรงก็โดยทางอ้อม เพื่อใช้เป็นอาหาร เครื่องนุ่งห่ม ยารักษาโรค และที่อยู่อาศัย ดังนั้นทรัพยากรพันธุ์พืชจึงมีความสำคัญอย่างมากทั้งด้านเกษตรกรรม ป่าไม้ อุตสาหกรรมสิ่งแวดล้อม ด้านเกษตรกรรม ได้แก่ การอาศัยสายพันธุ์ดีที่ให้ผลผลิตสูง รูปทรงดี หรือรสชาติดี การใช้สายพันธุ์ที่มีความต้านทานต่อโรค แมลง และการเปลี่ยนแปลงของสภาพแวดล้อมด้านอุตสาหกรรม ได้แก่ การนำสารเคมี น้ำยาง เส้นใย เนื้อไม้ จากพืชชนิดต่าง ๆ ไปใช้ประโยชน์ เช่น ใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิตด้านการแพทย์ ได้แก่ การใช้พืชสมุนไพรเป็นยารักษาโรคโดยตรง หรือสกัดสารเคมีต่าง ๆ จากพืชนานาชนิดไปใช้เป็นยา หรือใช้เป็นแนวทางสังเคราะห์ยาสำหรับรักษาโรค โรคร้าย ๆ ในปัจจุบัน เช่น มะเร็ง และเอดส์ ก็ได้มีการสำรวจพรรณพืชที่จะสามารถสกัดหรือใช้เป็นยารักษาอย่างแพร่หลาย ในด้านสิ่งแวดล้อม ทรัพยากรพันธุ์พืชช่วยควบคุมสภาวะแวดล้อมของท้องถิ่น และของโลกโดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องของการดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ และเพื่อบรรเทาปัญหาโลกร้อน จากคุณประโยชน์กล่าวจะสะท้อนให้เห็นว่าที่ใดมีความหลากหลายทางทรัพยากรพันธุ์พืชมากก็จะมีโอกาสได้ใช้ประโยชน์มากเช่นกัน

เป็นที่ยอมรับกันว่า ป่าเขตร้อน
(Tropical Forests) โดยเฉพาะอย่างยิ่งป่าดิบชื้น(Tropical Rain Forest) จะเป็นแหล่งที่มีความหลากหลายของทรัพยากรพันธุ์พืชสูงที่สุดของโลกจากการศึกษาและประเมิน ปรากฏว่าพืชพรรณไม้ทั้งหมดที่มีอยู่บนโลกของเรา มีประมาณ 250,000 ชนิด (Species) ซึ่งอยู่ในบริเวณป่าเขตร้อนในแถบต่าง ๆ ของโลกถึง 90,000 ชนิด (คาดว่ายังมีอีกประมาณ 30,000 ชนิดที่ยังไม่ได้ศึกษาและจำแนก) และมีอยู่ในพื้นที่แถบหนาวและแถบอบอุ่น (Temperate Zone) มีพื้นที่กว้างใหญ่ไพศาลประมาณ 50,000 ชนิด โดยพื้นที่ป่าเขตร้อนแถบลุ่มน้ำอเมซอน (Amezonia) เป็นแหล่งที่มีความ หลากหลายทางทรัพยากรพันธุ์พืชสูงที่สุด ประมาณว่ามีมากกว่า 30,000 ชนิด และพื้นที่ป่าเขตร้อนแถบภูมิภาคตะวันออกเฉียงใต้ ครอบคลุมพื้นที่ประมาณ 4.3 ล้านตารางกิโลเมตร เป็นแหล่งที่มีความหลากหลายทางทรัพยากรพันธุ์พืชรองลงมาโดยมีอยู่ประมาณ 25,000 ชนิด

อีกตัวอย่างหนึ่งที่ปรากฏชัดก็คือพื้นที่ป่า 50 เฮกแตร์เท่ากัน ป่าสนในแถบประเทศยุโรป มีพรรณไม้ยืนต้นอยู่เพียง 50 ชนิด แต่ในป่าดิบชื้นของมาเลเซีย มีอยู่ถึง 830 ชนิด หรือในป่าเขตร้อนของประเทศบราซิล มีพืชพรรณอยู่ประมาณ 20,000 ชนิด ในพื้นที่ 3 ล้านตารางกิโลเมตร ขณะเดียวกันพืชพรรณไม้ในประเทศสหรัฐอเมริกา มีอยู่ประมาณ 20,000 ชนิด ในพื้นที่ 9 ล้านตารางกิโลเมตร ประเทศไทยจัดว่ามีทำเลที่ตั้งเอื้ออำนวยต่อความหลากหลายของทรัพยากรพันธุ์พืชมาก เนื่องจากตั้งอยู่บนรอยต่อของชีวภูมิศาสตร์พรรณพืช ระหว่าง 3 ภูมิภาคด้วยกัน คือ ภูมิภาคอินโด - เบอร์มิส
(Indo-Burmese Region) ทางภาคเหนือ และภาคตะวันตก, ภูมิภาคอินโด - ไชนีส (Indo - Chinese Region) ทางภาคเหนือ ตะวันออกเฉียงเหนือ และบางส่วนของภาคตะวันออก และภูมิภาคมาเลเซียน (Malesian Region) ทางภาคใต้ตั้งแต่จังหวัดระนองลงไป และที่ปลายแหลมภาคตะวันออก คือ จังหวัดจันทบุรี จังหวัดตราด จากเขตภูมิภาคพรรณพืชดังกล่าว และจากสภาพทางกายภาพของประเทศไทย ทำให้ประเทศไทยมีป่าชนิดต่าง ๆ ถึง 16 ประเภทย่อย หรือมีความหลากหลายทางระบบนิเวศ และ/หรือถิ่นกำเนิดพืชพรรณถึง 16 ชนิด จึงเป็นสาเหตุหลักที่ทำให้ประเทศไทยมีความหลากหลายของทรัพยากรพันธุ์พืชอย่างมากมาย จากการศึกษาความอุดมสมบูรณ์ของจำนวนชนิดพรรณไม้ ในป่าของประเทศไทยพบว่า ในพื้นที่ป่า 1 เฮกแตร์ (100 x 100 เมตร) ป่าเต็งรัง (Dry Dipterocarp Forest) จะมีพรรณไม้อยู่ประมาณ 35 - 40 ชนิด ป่าเบญจพรรณ (Mixed Deciduous Forests) จะมีพรรณไม้อยู่ 14 - 21 ชนิด ป่าสน (Pine/Pine-Dipterocarp Forests) มี 22 - 34 ชนิด ป่าดิบแล้ง (Dry Evergreen Forest) มี 57 ชนิด ป่าดิบเขา (Montane Forest) มี 56 - 70 ชนิด ป่าดิบชื้นจะมีพรรณไม้อยู่มากถึง 69 - 109 ชนิด

สำหรับจำนวนชนิดพืชพรรณไม้ทั้งหมดที่มีอยู่ในประเทศไทย จากการสำรวจและจำแนกชนิดไม้ของนักพฤกษศาสตร์ พบว่า ประเทศไทยมีพืชพรรณไม้ที่สามารถจำแนกได้ถึง 13,200 ชนิด ในพื้นที่ 513,115 ตารางกิโลเมตร โดยจำแนกพืชออกเป็นกลุ่ม ๆ กลุ่มพืชใบเลี้ยงเดี่ยว มี2,500 ชนิด กลุ่มพืชใบเลี้ยงคู่ มี 10,000 ชนิด ในจำนวนนี้มีพืชที่พบเฉพาะในประเทศไทยเท่านั้น มีอยู่ 37 ชนิด กลุ่มพืชสกุลไม้สน มีอยู่ 50 ชนิด กลุ่มพวกเฟิน 650 ชนิด และกลุ่มพวกพืชชั้นต่ำ ได้แก่ เห็ด รา และสาหร่าย ประมาณ 1,000 ชนิด และคาดว่ายังมีพืชพรรณไม้อีกจำนวนมากที่ยังไม่ได้รับการสำรวจและศึกษา

------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------

สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์

ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า 3.0 ประเทศไทย.

Free Web Hosting